ประวัติท่านเจ้าคุณพระมงคลวโรปการ(หลวงพ่อชำนาญ อุตฺตมปญฺโญ)
"พระมงคลวโรปการ" หรือ "หลวงพ่อท่านเจ้าคุณชำนาญ อุตฺตมปญฺโญ" เจ้าอาวาสวัดชินวรารามวรวิหาร (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.ปทุมธานี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองปทุมธานีและมีชื่อเสียงในยุคปัจจุบัน ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีศีลจารวัตรงดงามและมีเมตตาแก่ศิษยานุศิษย์ตลอดมา
โดยที่บ้านของท่านอยู่ใกล้กับวัดบางกุฎีทอง ชีวิตของท่านในวัยเด็กจึงวนเวียนผูกพันอยู่กับวัด อาจกล่าวได้ว่าชีวิตของท่านส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในวัดมากกว่า เพราะท่านจะเข้าไปรับใช้ "หลวงปู่สุรินทร์ เรวโต (พระครูปทุมธรรมนุสิฐ)" เจ้าอาวาสวัดบางกุฎีทองในขณะนั้นอยู่เป็นประจำ จึงทำให้หลวงปู่สุรินทร์ มีความรักและเมตตาต่อท่านตั้งแต่เด็ก
เมื่อท่านได้เรียนจบชั้นประถมศึกษาภาคบังคับแล้ว หลวงปู่สุรินทร์ก็ได้ให้ท่านบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุได้ 14 ปี เมื่อท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ทำให้ท่านได้รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่สุรินทร์ ได้เรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติและและวิชาการต่างๆจากหลวงปู่สุรินทร์ ซึ่งหลวงปู่สุรินทร์ได้เรียนวิชาอาคมต่างๆ จากพระอาจารย์ของท่าน โดยเฉพาะสายมอญรามัญคือ "ท่านเจ้าคุณรามัญมุนี วัดบางหลวง จังหวัดปทุมธานี" หลวงพ่อชำนาญท่านจึงได้รับถ่ายทอดวิชาสายมอญมาจากหลวงปู่สุรินทร์ เรวโต มาโดยตรง
หลวงพ่อชำนาญท่านสนใจศาสตร์วิชาอาคมและสักยันต์ตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งจากพระภิกษุสงฆ์ผู้เรืองเวทย์และฆราวาสผู้เชี่ยวชาญ เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้ไปศึกษาวิชาถึงเมืองมอญประเทศพม่า ได้พบและสนทนาธรรมกับ "หลวงพ่ออุตตม สาโร" พระชาวมอญผู้มีวิชาอาคมขลังเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวมอญและชาวพม่าทั่วไป หลวงพ่อชำนาญท่านจึงเป็นพระเชื้อสายรามัญที่สืบทอดวิทยาคมสายเจ้าคุณพระรามัญมุนี มาตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร เรียนรู้อักขระขอมและภาษามอญ เรียนวิชากับครูพระและครูฆราวาสมากมาย และศึกษาคัมภีร์ตำราโบราณตามที่ครูบาอาจารย์ของท่านได้มอบไว้ พร้อมทั้งศึกษาพระเวทย์และคาถาอาคมต่างๆจนมีความชำนาญ
เมื่อใครได้ไปพบหลวงพ่อที่วัด จะเห็นได้ว่ารูปภาพด้านหลังที่ท่านนั่งอยู่นั้น จะเป็นรูปภาพครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประศาสน์วิชาความรู้ให้แก่หลวงพ่อท่าน ท่านถือความกตัญญูนั้นเป็นคุณธรรมสำคัญ เพราะเป็นคุณธรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนดี แสดงให้เห็นถึงความเป็นบุคคลที่โลกยกย่อง ชื่นชม นิยมบูชา ความกตัญญูคู่กับคำว่ากตเวที คำว่า “กตัญญู” แปลว่ารู้ความดี “กตเวที” แปลว่าหาวิธีตอบแทนความดีของท่าน ใครก็ตามที่มีคุณธรรมความดีต่อเรา วิสัยคนดีย่อมจะต้องกตัญญู ย่อมจะต้องกตเวที ด้วยบทกวีที่ว่า "กตัญญูรู้คุณท่านสำคัญนัก นี้เป็นหลักคนดีมีครบถ้วน ตอบแทนท่านให้งามตามสมควร คนดีล้วนใจมั่นกตัญญู"
สิ่งหนึ่งที่ครองใจศิษย์ไม่เสื่อมคลาย คือท่านเป็นที่รักและเป็นที่พึ่งของศิษย์ โดยเฉพาะความรักลูกศิษย์ของท่านมีมากจนรู้ซึ้งในน้ำใจของศิษย์ทุกคน ใครที่น้อมเข้ามาเป็นศิษย์ของท่านแล้ว ท่านจะช่วยเหลือจนถึงที่สุด ดังคำสอนของหลวงพ่อที่บอกต่อศิษย์เสมอว่า "อันครูบาอาจารย์ไม่เคยทอดทิ้งศิษย์ มีแต่ศิษย์นั้นแหละที่ลืมและทอดทิ้งอาจารย์ หากศิษย์ไม่ลืมครูบาอาจารย์ มีหรือจะทิ้งศิษย์ต้องช่วยกันจนกว่าจะตายไปข้างหนึ่ง"
หลวงพ่อชำนาญมีความเชี่ยวชาญทั้งวิชาการสักยันต์ และการทำตะกรุด ท่านได้เรียนวิชาจากอาจารย์อยู่ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านอาจารย์อยู่บอกหลวงพ่อว่า ถ้าท่านอยากได้วิชาอาคมดังกล่าว ท่านต้องพิจารณาซากศพที่เน่าเหม็นนั้น ให้เห็นเป็นซากศพที่ไม่เหม็นไม่มีกลิ่นเหมือนท่อนไม้ จึงจะเรียนวิชาได้ผลจากการปฏิบัติเช่นนี้ จิตใจของหลวงพ่อจึงเย็นและสงบนิ่ง โดยเฉพาะอิริยาบถการเดินของท่านเบาและเสมือนไร้ร่องรอย ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไกลไร้พรหมแดน แต่แปลกท่านไม่มีแม้ทั้งวิทยุและโทรทัศน์
จึงเป็นที่รู้กันดีในหมู่ลูกศิษย์ว่าท่านขลังจริงๆ วัตถุมงคลของท่านแสดงปาฏิหาริย์ช่วยเหลือคนมามากนักต่อนัก ทั้งลูกศิษย์ในประเทศและต่างประเทศ เดิมทีท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางกุฎีทอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดชินวรารามมากนัก ตั้งแต่ท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางกุฎีทอง เมื่อปีพ.ศ.2539 ท่านได้ปฏิสังขรณ์วัดบางกุฎีทองทั้งอาราม ก่อสร้างถาวรวัตถุจำนวนมาก จนมีความสง่างามจวบจนมาถึงปัจจุบัน ท่านยังส่งเสริมการศึกษาพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัด มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา ทุกชั้นวัย มาด้วยดีโดยตลอด
⚜️ชาติภูมิ
มีนามเดิมว่า นาย ชำนาญ พันธ์หว้า เกิดวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีชวด วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ บิดา นายชะโอด มารดา นางสำเนียง บ้านเลขที่ ๑๔ หมู่ที่ ๗ ตำบลบางกะดี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
⚜️บรรพชาสามเณร
ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีขาล วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ณ วัดบางหลวง ตำบลบางหลวง อำเภอ เมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
⚜️อุปสมบท
ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอกวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ณ วัดบางกุฎีทอง ตำบลบางกะดี อำเภอ เมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พระอุปัชฌาย์ พระสุเมธาภรณ์ วัดบางหลวง ตำบลบางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี, พระกรรมวาจาจารย์ พระครูปทุมธรรมานุสิฐ วัดบางกุฎีทอง ตำบลบางกะดี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี, พระอนุสาวนาจารย์ พระครูปทุมสุตคุณ วัดสังลาน ตำบลบางกะดี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
⚜️วิทยฐานะทางการศึกษา
• พ.ศ. 2527 สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดบางกุฎีทอง ตำบลบางกะดี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
• พ.ศ. 2533 สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.จังหวัดปทุมธานี)
• พ.ศ. 2548 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
• พ.ศ. 2549 สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.)
• พ.ศ. 2551 ได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการเชิงพุทธ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
⚜️สมณศักดิ์
• พ.ศ. 2539 ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดบางกุฎีทอง ตำบลบางกะดี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
• พ.ศ. 2541 ดำรงตำเจ้าอาวาสวัดบางกุฎีทอง ตำบลบากกะดี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
• พ.ศ.2542 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ.2543 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ฐานานุกรมในพระครูโสภณพิทักษ์ เจ้าคณะอำเภอเมือง วัดโสภาราม อ.เมือง จ.ปทุมธานี
• พ.ศ. 2543 เป็นพระสมุห์ ฐานานุกรม ใน พระครูโสภณพิทักษ์ พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก วัดโสภาราม ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
• พ.ศ. 2549 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฏร์ชั้นโท ราชทินนามที่พระครูปทุมวรกิจ วัดบางกุฎีทอง จ.ปทุมธานี
• พ.ศ. 2557 เป็นพระครูสัญญาบัตร เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม
• พ.ศ. 2558 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท ในราชทินนามเดิม (ปรับพัด)
• พ.ศ. 2558 เป็นเจ้าอาวาสวัดชินวรารามวรวิหาร "วันที่ 25 ธันวาคม 2558 ท่านได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้มาดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดชินวรารามวรวิหาร (พระอารามหลวง) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ เป็นพระอารามหลวง แห่งแรกของจังหวัดปทุมธานี เป็นวัดที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยท่านได้เริ่มพัฒนาปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม"
• พ.ศ. 2559 เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ "วันที่ 12 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมานับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ 84 พรรษา พระครูปทุมวรกิจ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระมงคลวโรปการ (เจ้าคุณชำนาญ)"
• พ.ศ. 2562 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี