รายละเอียด:
ผ้ายันต์อิ่นหน่อง, ครูบาฐากูร วัดแม่แพะ, จ.เชียงใหม่
ตำนานเครื่องรางอิ้นคู่แห่งเมืองเหนือ สืบสานสุดยอดมนตรามหาเสน่ห์แห่งล้านนา สำหรับการสร้างตะกรุดอิ่นหน่องนี้ครูบาฐากูรได้ทำขึ้นตามตำราปั๊ปสาล้านนาโบราณที่ตกทอดกันมาหลายรุ่น มีอายุอานามเก่าแก่เป็นร้อยๆปี
โดยครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนได้ระบุไว้ในตำราปั๊ปสานั้นว่า ให้ลงยันต์อิ่นหน่องนี้ใส่แผ่นตะกรุดหรือผ้ายันต์ ใช้อาราธนาพกติดตัวเป็นเมตตามหานิยมอย่างเอกอุ ขึ้นหาเจ้า เฝ้าหานาย บุรุษรุดหานารี สตรีจรลีหาชาย ล้วนเป็นที่ยินดีรักใคร่ หาผู้ใดชิงชังมิได้แล พกพาติดตัวย่อมเป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่คนทั้งหลาย ใช้บูชาด้านทำมาค้าขายลูกค้าเข้าหาหยิบจ่าย ได้กำไรหมานหมื่นแสนทะนาน
ซึ่งอานุภาพที่โดดเด่นของยันต์อิ่นหน่อง อันขึ้นชื่อลือชามากด้วยประสบการณ์ที่สุด คือด้าน "ดึงจิตดึงใจให้อ่อนใจรักเกี่ยวรั้งสลักกายใจให้เชื่อมกันเป็นไม้แผ่นเดียว" คนใจแข็งจะกลับใจอ่อน คนข้างหมอนจะมิแหนงหน่าย สมนาม "อิ่นหน่อง" โดยคำว่า "หน่อง” เป็นภาษาถิ่นภาคเหนือ แปลว่า รั้งไว้, ถ่วงไว้ หรือเหนี่ยวรั้ง ดั่งที่เห็นได้จากรูปยันต์ ที่เป็นลักษณะของชายหญิง ถูกรั้งถูกดึงให้เชื่อมเข้าหากัน ครองคู่เป็นหนึ่ง กลมเกลียวรักใคร่
สำหรับการสร้าง "ผ้ายันต์อิ่นหน่อง" นี้ ครูบาฐากูรได้นำผ้าขาว มาจารเลขยันต์อักขระตามตำราแบบเต็มสูตร พร้อมเรียกสูตรเรียกนามในฤกษ์ยามเฉพาะ โดยทุกขั้นตอนอันละเอียดพิถีพิถันที่กล่าวมานี้ ครูบาฐากูรท่านทำด้วยมือท่านเองทั้งหมดเพื่อความมั่นใจว่าวัตถุมงคลที่ท่านสร้าง จะมีความงดงามในเชิงศิลป์ และมีอิทธิคุณในเชิงศาสตร์ เป็นของดีของล้ำค่า พร้อมสร้างตำนานแก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป