รายละเอียด:
ตะกรุดอิ่นหน่อง, ครูบาฐากูร วัดแม่แพะ, จ.เชียงใหม่
ตำนานเครื่องรางอิ้นคู่แห่งเมืองเหนือ สืบสานสุดยอดมนตรามหาเสน่ห์แห่งล้านนา สำหรับการสร้างตะกรุดอิ่นหน่องนี้ครูบาฐากูรได้ทำขึ้นตามตำราปั๊ปสาล้านนาโบราณที่ตกทอดกันมาหลายรุ่น มีอายุอานามเก่าแก่เป็นร้อยๆปี

โดยครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนได้ระบุไว้ในตำราปั๊ปสานั้นว่า ให้ลงยันต์อิ่นหน่องนี้ใส่แผ่นตะกรุดหรือผ้ายันต์ ใช้อาราธนาพกติดตัวเป็นเมตตามหานิยมอย่างเอกอุ ขึ้นหาเจ้า เฝ้าหานาย บุรุษรุดหานารี สตรีจรลีหาชาย ล้วนเป็นที่ยินดีรักใคร่ หาผู้ใดชิงชังมิได้แล พกพาติดตัวย่อมเป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่คนทั้งหลาย ใช้บูชาด้านทำมาค้าขายลูกค้าเข้าหาหยิบจ่าย ได้กำไรหมานหมื่นแสนทะนาน
ซึ่งอานุภาพที่โดดเด่นของยันต์อิ่นหน่อง อันขึ้นชื่อลือชามากด้วยประสบการณ์ที่สุด คือด้าน "ดึงจิตดึงใจให้อ่อนใจรักเกี่ยวรั้งสลักกายใจให้เชื่อมกันเป็นไม้แผ่นเดียว" คนใจแข็งจะกลับใจอ่อน คนข้างหมอนจะมิแหนงหน่าย สมนาม "อิ่นหน่อง" โดยคำว่า "หน่อง” เป็นภาษาถิ่นภาคเหนือ แปลว่า รั้งไว้, ถ่วงไว้ หรือเหนี่ยวรั้ง ดั่งที่เห็นได้จากรูปยันต์ ที่เป็นลักษณะของชายหญิง ถูกรั้งถูกดึงให้เชื่อมเข้าหากัน ครองคู่เป็นหนึ่ง กลมเกลียวรักใคร่
สำหรับการสร้าง "ตะกรุดอิ่นหน่อง" นี้ ครูบาฐากูรได้นำแผ่นโลหะทองแดง มาจารเลขยันต์อักขระตามตำราแบบเต็มสูตร พร้อมเรียกสูตรเรียกนามในฤกษ์ยามเฉพาะ ถือเคล็ดว่า "ทองแดง" คือโลหะธาตุประจำดาวศุกร์ ดวงดาวแห่งความรัก จึงถือเป็นธาตุแห่งความสุข มีเสน่ห์ในตัว ซึ่งตามศาสตร์ความเชื่อของฝรั่ง ในสายเล่นแร่แปรธาตุก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน
เสร็จแล้วจึงทำการม้วน ก่อนจะนำไปพอกด้วยสารพัดผงวิเศษ ผงพุทธคุณ ทางด้านเมตตามหานิยมสุดบรรยาย มีทั้งผงลบกระดานจากตับวิชาทางเสน่หาของล้านนา, ผงว่านยาทางมหานิยมชุ่มเย็น, และผงพุทธคุณที่ครูบาฐากูรได้ทำพิธีพลีมาจากพระเครื่องวัตถุมงคลต่างๆที่ท่านรวบรวมสะสมไว้ ซึ่งครูบาฐากูรต้องนำผงทั้งหมดนี้มาบดด้วยกรรมวิธีพิเศษหลายขั้นหลายตอน จนกระทั่งผงมวลสารทั้งหมดมีความละเอียดถึงที่สุด ท่านว่าหากบดไม่ละเอียดพอ เวลานำมาพอกตะกรุดจะทำให้พื้นผิวตะกรุดไม่เรียบลื่นสวยงาม หากผิวตะกรุดขรุขระขึ้นเม็ดก็จะไม่สามารถจารยันต์บนตะกรุดได้
หลังจากทำการพอกผงแล้ว ครูบาฐากูรท่านได้นำตะกรุดไปลงรักปิดทองตามกรรมวิธีโบราณ แล้วจึงจารยันต์อิ่นหน่องสำทับไว้ เพิ่มความเข้มขลังเป็นเท่าทวี เรียกว่า "ดีนอกดีใน" ซึ่งยันต์อิ่นหน่องที่ท่านจารไว้ด้านนอก จะเป็นคนละตัวคนละสูตร ไม่เหมือนกับยันต์อิ่นหน่องที่ลงไว้ในแผ่นตะกรุด โดยทุกขั้นตอนอันละเอียดพิถีพิถันที่กล่าวมานี้ ครูบาฐากูรท่านทำด้วยมือท่านเองทั้งหมดเพื่อความมั่นใจว่าวัตถุมงคลที่ท่านสร้าง จะมีความงดงามในเชิงศิลป์ และมีอิทธิคุณในเชิงศาสตร์ เป็นของดีของล้ำค่า พร้อมสร้างตำนานแก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป